วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

องค์ความรู้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน : #2 หลักการพื้นฐานของพ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน



การยกเว้นหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย

บรรดาการกระทำขององค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เป็นการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมาย ในทางวิชาการจะเรียกว่า การกระทำทางปกครอง ซึ่งการกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครองนี้จะต้องกระทำโดยชอบ อันเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญในหลักนิติรัฐ(Etat de droit) เรียกว่า หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย

หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง บรรดาการกระทำขององค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะกระทำให้เป็นกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิได้ เว้นแต่ กฎหมายให้อำนาจกระทำได้แต่จะทำการจนกระทบกระเทือนสารัตถะของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิได้

ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายเป็นทั้ง แหล่งที่มา และ ข้อจำกัดของฝ่ายปกครอง

อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี[1] คือ

(1) การกระทำทางรัฐบาล (Acte de gorvernement)

เป็นการกระที่ไม่ต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย หากแต่ต้องรับผิดทางการเมืองเท่านั้น และ

(2) การกระทำในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายปกครอง

ในกรณีที่สภาพบ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะที่อาจควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างศึกสงคราม หรือเหตุจลาจลร้ายกาจ การที่ฝ่ายปกครองต้องกระทำให้ถูกต้องตามหลักการ อาจชักช้าเกินกว่าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น จึงเกิดหลักที่เรียกว่า ความจำเป็นนั้นคือกฎหมาย (Nescesarité fait loi) ซึ่ง หลักการดังกล่าวได้ปรากฏตัวอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตราพระราช กำหนดโดยฝ่ายบริหาร ที่กำหนดเงื่อนไขในการพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุตามกำหนดและ สถานการณ์ที่จำเป็นเท่านั้น โดยเงื่อนไขประเภทสาหตุและเงื่อนไขความจำเป็นสามารถถูกตรวจสอบและควบคุมได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาพระราชกำหนดการบริหารบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉินจะพบว่ามีหลายมาตรา ที่เป็นข้อยกเว้นหลักการตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักศุภนิติกระบวนการ (Due process of law) ในกระบวนการทางอาญา นำไปสู่ปัญหาว่า สิทธิและเสีภาพของประชาชนจะถูกกระทบกระเทือนมากเกินหรือไม่?

ด้วยความเคารพผู้เขียนเห็นพ้องกับหลักความจำเป็นนั้นคือกฎหมาย (Nescesarité fait loi) เพราะ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายปกครองอาจจำต้องกระทำการบางอย่างเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งการกระทำในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่ายังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลักกฎหมายทั่วไปทางรัฐธรรมนูญ คือ หลักความได้สัดส่วน

หลักความได้สัดส่วน เรียกร้องให้บรรดามาตรการที่นำมาใช้นั้น ต้องได้ผลจริงในการรักษาความสงบเรียบร้อย(หลักความสัมฤทธิ์ต่อผล) และในกรณีที่มีมาตการที่จะประสบผลสำเร็จมากกว่า 1 หนึ่งมาตรการ ฝ่ายปกครองจะต้องเลือกใช้มาตรการที่เลวร้ายน้อยที่สุด(หลักความจำเป็น) และต้องได้สัดส่วนกับสิ่งที่ประชาชนต้องสูญเสียสิทธิและเสรีภาพบางส่วนนั้นไป(หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ)

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าหลักความได้สัดส่วนนี้ก็คือเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหารนั่นเอง ดังนั้น หากกรณีมิใช่เรื่องเร่งด้วยจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้ บุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดอาจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบและยกเลิกพระราช กำหนดฯนี้ได้ ซึ่งเป็นทางออกในการควบคุมมิให้ฝ่ายปกครองบังคับใช้กฎหมายที่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

[1] โปรดดูใน ประยูร กาญจนดุล,กฎหมายปกครอง,สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น