วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

องค์ความรู้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน : #1 พระราชกำหนด : หลักทั่วไป

หลักทั่วไป

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ พระองค์เจ้ารพีทรงเรียกว่า "ระบบประมวญธรรม" (ตาม หนังสือเรียนสังคมชั้นมัธยมปลายหลายเล่มใช้คำว่าระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดและผมก็เป็นห่วงในประเด็นนี้มาก เพราะคอมมอนส์ลอว์เองก็มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกัน)

บ่อเกิดของกฎหมาย(Juris fons) ของไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้คือ

1.บ่อเกิดที่เป็นลายลักษณ์อักษร และ

2.บ่อเกิดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

(สำหรับ รายละเอียดโปรดดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4และ กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป1 ของอ.สมยศเชื้อไทย และนิติวิธีซีวิลลอว์ คอมมอนลอว์ อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ)

บ่อเกิดที่เป็นลายลักษณ์อักษณ์ที่สำคัญ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติเนื่องจากเป็นอำนาจอธิปไตยที่มีภารกิจโดยตรงในการบัญญัติ กฎหมาย ดังนั้น เราจึงเรียกกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติว่า "กฎหมายโดยแท้" ซึ่งก็ได้แก่ "พระราชบัญญัติ"

นอกจากฝ่านนิติบัญญัติแล้ว องค์กรอธิปไตยอื่นที่สามารถออกกฎหมายได้เช่น นั่นคือ ฝ่ายบริหารทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้คือการออก "พระราชกำหนด"

โดยที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 184 พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีสามารถตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับ เช่นพระราชบัญญัติได้ โดยมีเงื่อนไขสำหรับการตราพระราชกำหนดมี ดังนี้

1. เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ

2. เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาึความปลอดภัยสาธารณะ

3. เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

4. เพื่อปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ

และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจะหลีกเลี่ยงได้ !!!

เพราะฉะนั้นจะต้องมีเหตุ 4 ประการประกอบกับเงื่อนไขที่ว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน

เมื่อประกาศใช้พระราชกำหนดแล้วจะมีการเปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่ อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็วที่สุด หากสภาอนุมัติจะกลายเป็นพระราชบัญญัติและใช้บังคับได้ต่อไป แต่ถ้าไม่อนุมัติพระราชกำหนดจะตกไปทันที

การควบคุมตรวจสอบพระราชกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 185 เปิดโอกาสให้ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาแห่งตนว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไป ตามเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อยื่นแล้ว ให้สภาฯรอการพิจารณาเอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับคำวินิจฉัย ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะออกพระราชกำหนด ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น กล่าวคือ ไม่มีผลมาตั้งแต่วันออกใช้เสมือนว่าไม่เคยมีพระราชกำหนดนั้นๆ เลย

แต่เดิมรัฐธรรมนูญ ปี 40 ไม่เปิดโอกาสให้ศาลรฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยถึงองค์ประกอบเรื่องเหตุฉุกเฉินได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ได้ ถือเป็นการตรวจสอบอำนาจบริหารบัญญํติโดยองค์กรตุลาการทางหนึ่ง

------------------------------------

บทความนี้ตัดทอนจากบทความของผู้ขียนเอง ชื่อ "พระราชกำหนด : หลักทั่วไป" เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น